
การมีรายได้ประจำหลังเกษียณ จะช่วยให้วัยเก๋าไม่ต้องกังวลเรื่องเงินและสามารถใช้จ่ายในชีวิตวัยเกษียณได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น แหล่งรายได้ที่จะช่วยให้วัยเก๋ามีเงินใช้ต่อเนื่องมีอะไรบ้าง มาดูกัน
กลุ่มสวัสดิการ
1. เงินบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุนประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน ม.33 และ ม.39
รูปแแบบรายได้:
- กรณีส่งเงินสมทบ 180 เดือนขึ้นไป หรือ 15 ปี (ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม) จะได้รับเป็น “บำนาญชราภาพ”
- กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็น “บำเหน็จชราภาพ” จ่ายครั้งเดียว
เหมาะกับ: พนักงานบริษัท อายุครบ 55 ปี บริบูรณ์
2. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินสวัสดิการของรัฐ
รูปแแบบรายได้: เงินรายเดือนหลังเกษียณ รัฐจ่ายอัตราแบบขั้นบันไดขึ้นอยู่กับช่วงอายุ เริ่มตั้งแต่ 600-1,000 บาท/เดือน
เหมาะกับ: ผู้มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์
3. เงินบำเหน็จหรือบำนาญข้าราชการ
รูปแแบบรายได้:
- กรณีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปี ได้รับสิทธิบำเหน็จ (รับเงินก้อนครั้งเดียว)
- กรณีอายุงานตั้งแต่ 25 ปี ขึ้นไป สามารถเลือกรับสิทธิบำเหน็จ หรือบำนาญ (รับเงินเป็นรายเดือน) ได้
เหมาะกับ: ข้าราชการ อายุ 60 ปี บริบูรณ์
4. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) การออมภาคสมัครใจ โดยผู้ออมจ่ายเงินเข้ากองทุนและ กอช. สมทบเงินให้
รูปแแบบรายได้: รับเงินบำนาญรายเดือน (สมาชิก กอช. สามารถรับเบี้ยผู้สูงอายุ พร้อมกับเงินบำนาญของ กอช. ได้ โดยไม่ถูกตัดสิทธิใด ๆ)
เหมาะกับ: ผู้ที่มีอาชีพอิสระ อายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ กรณีสมาชิกเสียชีวิตก่อน หรือหลังอายุ 60 ปี กอช. จะจ่ายคืนให้ผู้รับผลประโยชน์เป็นเงินก้อนครั้งเดียว
5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) การออมภาคสมัครใจ
รูปแแบบรายได้: สามารถเลือกถอนเงินออกมาทั้งก้อน หรือทยอยรับเงินเป็นงวด ๆ ได้ โดยเงินที่ได้รับเป็นเงินสะสมของตนเองและเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเข้ากองทุนพร้อมดอกผลจากการลงทุนในช่วงที่เป็นสมาชิกกองทุน
เหมาะกับ: พนักงานของบริษัทที่มี PVD
6. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
รูปแแบบรายได้:
- กรณีรับบำเหน็จ คำนวณจากเงินเดือนเดือนสุดท้าย แล้วนำมารวมกับเงินออม กบข. ได้แก่ เงินสะสม เงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) และเงินสมทบ (+ดอกผล)
- กรณีรับบำนาญ คำนวณจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (แต่บำนาญต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย) แล้วนำมารวมกับเงินออม กบข. ได้แก่ เงินสะสม(ดอกผล) เงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) เงินสมทบ เงินประเดิม (เฉพาะสมาชิกก่อน 27 มี.ค.2540) และเงินชดเชย (เฉพาะคนที่ลือกรับบำนาญ)
เหมาะกับ: ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข.
กลุ่มผลิตภัณฑ์การลงทุน
1. เงินฝากประจำ/สลากออมสิน
รูปแแบบรายได้: ดอกเบี้ย
เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการความปลอดภัยของเงินต้น
2. หุ้นปันผล/กองทุนรวมหุ้นปันผล
รูปแแบบรายได้: ส่วนต่างกำไรจากการขาย/เงินปันผล
เหมาะกับ: ผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงสูงได้
3. พันธบัตร/ตราสารหนี้/กองทุนรวมตราสารหนี้
รูปแแบบรายได้: ดอกเบี้ย/ส่วนต่างกำไรจากการขาย
เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอ
4. รายได้จากอสังหาริมทรัพย์
รูปแแบบรายได้: ค่าเช่ารายเดือน
เหมาะกับ: ผู้ที่มีเงินทุนและต้องการรายได้จากอสังหาริมทรัพย์
5. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
รูปแแบบรายได้: เงินบำนาญตามแผนประกัน
เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการรายได้แน่นอนสม่ำเสมอ
กลุ่มทำธุรกิจ/ทำงานเสริม
1. งานอดิเรก/ธุรกิจเล็ก ๆ เช่น เปิดร้านกาแฟ ขายอาหารหรือขนม งานฝีมือ เขียนหนังสือ ที่ปรึกษา หรือสอนพิเศษ
รูปแแบบรายได้: รายได้ขึ้นอยู่กับการผลประกอบการและการวางแผนการเงินของธุรกิจ
เหมาะกับ: ผู้ที่ยังมีไฟในการทำงาน
2. รายได้ออนไลน์ เช่น ทำคอนเทนต์สร้างรายได้จากโฆษณา/นายหน้าขายออนไลน์/ขายของออนไลน์
รูปแแบบรายได้: รายได้ขึ้นอยู่กับการผลประกอบการและการวางแผนการเงินของธุรกิจ
เหมาะกับ: ผู้ที่อยากมีรายได้เสริมจากออนไลน์
Tips : ควรกระจายแหล่งรายได้ ไม่พึ่งพารายได้ทางเดียว เพื่อความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณ
"ชีวิตหลังเกษียณคุณเลือกได้ ให้เงินทำงานแทนเรา หรือเรายังสนุกกับการหาเงิน
เลือกวิธีที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เพื่อมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต"